โฟล์คลิฟท์มีกี่ประเภท องค์กรของคุณควรใช้แบบไหนจึงเหมาะสม

AVENT  > Industrial >  โฟล์คลิฟท์มีกี่ประเภท องค์กรของคุณควรใช้แบบไหนจึงเหมาะสม
0 Comments
โฟล์คลิฟท์

                เป็นความรู้เพิ่มเติมว่าจริง ๆ แล้วโฟล์คลิฟท์นั้นไม่ใช่ “รถ” แต่เป็น “เครื่องจักร” และเพราะว่ามีล้อในการขับเคลื่อน เราจึงเรียกว่า “รถ” และอีกหนึ่งความรู้คือชื่อของ Forklift แปลความหมายได้ตรงตัวคือคำว่า Fork ที่แปลว่าส้อมนำไปผสมกับคำว่า Lift ที่แปลว่ายกขึ้น เมื่อนำมารวมกัน Forklift จึงเป็นเครื่องจักรติดล้อที่มีงาคล้ายส้อมยื่นออกมาเพื่อตักสินค้าและยกขึ้นไปวางในตำแหน่งที่ต้องการ และถึงแม้ว่าคำจำกัดความของรถยกชนิดนี้จะง่ายดาย แต่การเลือกใช้งานจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะมีหลายหน่วยงานที่เลือกใช้รถผิดประเภท ทำให้งานที่ได้นั้นไม่ตรงกับความต้องการ ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาศึกษาพร้อมกันว่าโฟล์คลิฟท์มีกี่ประเภท และธุรกิจของคุณควรเลือกใช้ประเภทใด

5 ประเภทและการใช้งานของโฟล์คลิฟท์ ที่คุณควรรู้ก่อนเลือกใช้งาน

โฟล์คลิฟท์นั้นสามารถแบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ แบบแรกคือใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน สำหรับพื้นที่ในร่ม ใช้งานไม่หนัก ไม่ถึง 24 ชั่วโมง มีข้อดีคือไม่สร้างมลพิษ ต่อมาคือแบบใช้น้ำมันดีเซลเหมาะสำหรับงานกลางแจ้ง ใช้งานหนักแบบต่อเนื่อง และสุดท้ายคือใช้น้ำมันเบนซินสำหรับการใช้งานทั้งในร่มและกลางแจ้ง ไม่เน้นงานหนัก โดยมีข้อดีอยู่ที่การบำรุงรักษาน้อย

นอกเหนือจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบแก๊ส LPG เพิ่มเข้ามา สำหรับงานหนักที่มีต้นทุนสูง และเจ้าของกิจการต้องการประหยัดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงจึงเลือกติดตั้งแก๊ส LPG แทน ซึ่งการติดแก๊สนี้จำเป็นจะต้องมีช่างที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางคอยดูแล ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือการแบ่งประเภทใหญ่ ๆ ของโฟล์คลิฟท์ ส่วนการแบ่งประเภทตามลักษณะงานจะมีดังนี้

1. การใช้งานในโกดังทั่วไป

                ในโกดังใหญ่ ๆ หรือคลังสินค้านิยมใช้รถแบบมีพิกัดน้ำหนักตั้งแต่ 2.5-10 ตัน รถประเภทนี้ส่วนใหญ่จะนิยมใช้เป็นรถไฟฟ้า เนื่องจากพื้นที่โกดังหรือคลังสินค้ามักจะเป็นพื้นที่ปิด อีกทั้งสินค้าบางชนิดยังเป็นอาหาร การใช้งานรถยกจึงไม่นิยมใช้แบบเครื่องยนต์น้ำมัน เพราะจะก่อมลพิษทั้งเสียงและกลิ่น

2. การใช้งานในพื้นที่คับแคบ

                พื้นที่หน้างานที่คับแคบมีอยู่หลายพื้นที่ ทั้งในโกดังตามซอยย่อยต่าง ๆ ในโรงงานเหล็กที่มีชั้นวางเหล็กเรียงกันเป็นแถว หรือแม้แต่คลังสินค้าขนาดเล็กที่ไม่มีพื้นที่สำหรับโฟล์คลิฟท์ขนาดใหญ่ มักจะนิยมใช้ Side Loader ซึ่งก็คือรถที่มีลักษณะวิ่งไปด้านข้าง พบได้บ่อยในโรงงานผลิตเหล็ก ที่ชิ้นงานมีทั้งความหนักและความยาว รวมไปถึงโรงงานไม้ และโรงงานผลิตท่อ ความพิเศษของรถชนิดนี้ทำให้การจัดเรียงสินค้าที่มีความยาวเป็นไปได้ง่ายด้วยการเคลื่อนตัวไปด้านข้างแบบไม่ต้องเลี้ยว

3. การใช้งานที่ต้องบรรทุกของหนักและต้องเลี้ยวบ่อย ๆ

                เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยม มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Counterbalance Forklift รถชนิดนี้จะมีการถ่วงน้ำหนักเอาไว้ข้างหลัง เพื่อรองรับการโหลดสินค้าที่มีน้ำหนักเยอะที่ด้านหน้า สร้างความบาลานซ์เพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงานผู้ขับขี่ นอกจากนี้รถชนิดนี้ยังมีล้อเพียง 3 ล้อ คือ ด้านหน้า 2 ล้อ และด้านหลังอีก 1 ล้อ สำหรับงานที่ต้องเลี้ยวบ่อย ๆ หรือต้องหมุนเป็นวงกลม

4. การใช้งานสำหรับบรรทุกของหนักเพียงอย่างเดียว

                อย่างที่เราทราบกันดี ยิ่งโฟล์คลิฟท์มีพิกัดน้ำหนักมากเท่าไหร่ ตัวรถก็จะมีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่านั้น เรากำลังพูดถึง Industrial Forklift ที่นิยมใช้โรงงานอุตสาหกรรม รถชนิดนี้รับน้ำหนักได้มากถึง 10 ตัน แต่ก็มีขนาดที่ใหญ่โต การเลี้ยวในที่แคบทำได้ยาก จึงนิยมนำมายกของหนักในโรงงานใหญ่ ๆ ที่มีพื้นที่กว้างขวางเท่านั้น

5. การใช้งานกลางแจ้งบนพื้นผิวที่ไม่เรียบ

                ออกมาสู่งานหนักกลางแจ้งที่มีพื้นผิวขรุขระ รถชนิดนี้ได้รับการออกแบบมาสำหรับงานกลางแจ้งเท่านั้น นั่นคือ Rough Terrain Forklift ด้วยล้อยางพิเศษขนาดใหญ่ออกแบบมามีลักษณะดอกยางเป็นเกลียว เพื่อให้ทนทานต่อหินและของมีคมบนพื้น อีกทั้งยังช่วยรักษาสมดุลของรถเมื่อต้องยกสินค้า

                ลักษณะงานของคุณเหมาะกับโฟล์คลิฟท์ประเภทไหน สามารถเลือกได้ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวมาด้านบน เพราะการเลือกใช้งานรถให้ถูกประเภทจะช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้น พนักงานผู้ขับขี่มีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งเพื่อนร่วมงานที่อยู่บริเวณโดยรอบก็ได้รับความปลอดภัยด้วยเช่นกัน